วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2553

โครงการสร้างเสริมสุขภาพบุคลากร รพ.รร.จปร.

หลักการและเหตุผล
ในปัจจุบันภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนเป็นปัญหาสำคัญที่พบในกลุ่มประชากรต่างๆ ทั้งในสังคมเมืองและสังคมชนบท พบได้ทั้งในเพศชายที่มีรอบเอวตั้งแต่ ๙๐ เซนติเมตรขึ้นไป และเพศหญิง ที่มีรอบเอวตั้งแต่ ๘๐ เซนติเมตรขึ้นไป เรียกโรคอ้วนลงพุง ( ในเพศหญิงมักลงสะโพก ) เป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังต่างๆ เช่นน้ำตาลในเลือดสูง , โรคความดันโลหิตสูง , โรคไขมันในเลือดสูง , โรคเบาหวาน , โรคหลอดเลือดหัวใจ ,โรคหลอดเลือดสมอง โดยรอบเอวที่เพิ่มขึ้นทุกๆ ๕ เซนติเมตร จะเพิ่มโอกาสเกิดโรคเบาหวาน ๓ – ๕ เท่า จากการตรวจประเมินสุขภาพของข้าราชการ และลูกจ้าง รพ.รร.จปร. ปี ๒๕๕๒ จำนวน ๑๑๕ ราย พบว่ามีผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายผิดปกติ ๘๐ ราย ( คิดเป็นร้อยละ ๖๙.๕๗ ) , ภาวะน้ำหนักเกิน ๓๓ ราย ( คิดเป็นร้อยละ ๒๘.๖๙ ), โรคอ้วน ๑๔ ราย ( คิดเป็นร้อยละ ๑๒.๑๗ ) , ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ๑๙ ราย ( คิดเป็นร้อยละ ๑๒.๑๗ ) , โรคความดันโลหิตสูง ๑๒ ราย ( คิดเป็นร้อยละ ๑๐.๔๔ ), โรคไขมันในเลือดสูง ๔๗ ราย( คิดเป็นร้อยละ ๔๘.๗๕ ) , โรคเก๊าท์ ๒๐ ราย ( คิดเป็นร้อยละ ๒๕.๓๒ ) และทุกกลุ่มยังมีพฤติกรรมเสี่ยงในการดูแลสุขภาพในเรื่องของการรับประทานอาหาร , การออกกำลังกายและความเครียด
จากการดำเนินการโครงการรักษ์สุขภาพในปี ๒๕๕๐ พบว่าทุกกลุ่มชมรมสามารถลดค่าดัชนีมวลกาย ( ค่า BMI )ได้ภายในระยะเวลา ๙ เดือน แต่ยังมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์ปกติ แต่เนื่องจากปัจจุบันไม่มีโครงการที่สอดคล้องกับการดำเนินการดังกล่าว ทำให้ขาดความต่อเนื่อง รพ.รร.จปร. ในฐานะที่เป็นสถานที่ซึ่งให้บริการทางการแพทย์ ในพื้นที่ รร.จปร. และบริเวณใกล้เคียงโดยรอบซึ่งมีบทบาทสำคัญในการป้องกันและการรักษาโรคตลอดจนการส่งเสริมและฟื้นฟู จึงเล็งเห็นความสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาพบุคลากร โดยการรณรงค์เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักในมหันตภัยที่เกิดจากภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนลงพุง แก่กำลังพล จึงได้มีการจัดกิจกรรมตามสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการป้องกันตนเอง, ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง และสามารถให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วย , สมาชิกในครอบครัวและบุคคลอื่นๆได้อย่างถูกต้องเพื่อให้มีสุขภาพที่ดีซึ่งจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

วัตถุประสงค์
๑. เพื่อพัฒนาศักยภาพในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง ในการแก้ไขปัญหาน้ำหนักเกินและ
โรคอ้วนของกำลังพล รพ.รร.จปร.
๒. เพื่อรณรงค์การป้องกันและลดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคอ้วนในพื้นที่ รร.จปร.
๓. เพื่อให้กำลังพล ,ผู้ป่วยและญาติตลอดจนผู้สนใจทั่วไป มีความรู้ และทัศนคติในการหลีกเลี่ยง
พฤติกรรมเสี่ยงต่อภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนลงพุง

ตัวชี้วัด
๑. ผู้เข้าร่วมโครงการ ฯ ทุกนาย สามารถลดน้ำหนักได้ อย่างน้อย ๑ ระดับ
๒. ผู้เข้าร่วมโครงการ ฯ สามารถลดน้ำหนักได้ อย่างน้อย ร้อยละ ๕๐
๓. ผู้เข้าร่วมโครงการ ฯ สามารถลดน้ำหนักได้อย่างยั่งยืน อย่างน้อย ร้อยละ ๒๐

สถานที่ดำเนินการ
บริเวณที่รวมพลด้านหลังกองตรวจโรค รพ.รร.จปร.

วิธีดำเนินการ
๑. รวบรวมข้อมูลผลการตรวจร่างกายข้าราชการ รพ.รร.จปร. ปี ๒๕๕๒และผลการดำเนิน
โครงการรักษ์สุขภาพ รพ.รร.จปร. ปี ๒๕๕๐ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลเปรียบเทียบผลการดำเนินโครงการ
๒. ชี้แจงวิธีการดำเนินการโครงการ ฯ ให้ บุคลากร รพ.รร.จปร. ทราบ
๓. เก็บข้อมูลด้านสุขภาพของบุคลากร รพ.รร.จปร. ในวันแรกของการจัดกิจกรรม
๔. จัดกิจกรรมพบกลุ่มในทุกวันพุธที่ ๑ และ ๓ ของทุกเดือน เวลา ๑๕๐๐ –๑๖๐๐
๕. เก็บข้อมูลด้านสุขภาพของบุคลากร รพ.รร.จปร. ทุกเดือน
๖. สรุปผลการดำเนินงาน
๗. มอบรางวัลแก่หน่วยงานที่ชนะเลิศ

ระยะเวลาดำเนินการ
เริ่มดำเนินการตามโครงการฯ ตั้งแต่ ๑ มิ.ย. ๕๓ - ๓๑ พ.ค. ๕๔ ( เฉพาะวันพุธที่ ๑ และ ๓
ของเดือน เวลา ๑๕๐๐ – ๑๖๐๐ ) จำนวน ๒๔ ครั้ง

งบประมาณ
ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ จากสำนักงานประกันสุขภาพถ้วนหน้า รพ.รร.จปร.
จำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท ( สองหมื่นบาทถ้วน ) มีรายละเอียดดังนี้
๑. ค่าตอบแทนวิทยากร ( ๑ ท่าน X ๒๐๐ บาท X ๔ วัน ) เป็นเงิน ๘๐๐ บาท
๒. ค่าเครื่องดื่ม สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการ ฯ ( ครั้งละ ๖๐ คน X คนละ ๕ บาท X จำนวน ๒๔ ครั้ง )
เป็นเงิน ๗,๒๐๐ บาท
๓. ค่าของรางวัลสำหรับผู้ชนะเลิศประเภททีม จำนวน ๔ รางวัล ๆ ละ ๓,๐๐๐ บาท
เป็นเงิน ๑๒,๐๐๐ บาท

ผู้รับผิดชอบโครงการ งานสร้างเสริมสุขภาพ หน่วยบริการปฐมภูมิ รพ.รร.จปร.

กลุ่มเป้าหมาย บุคลากร รพ.รร.จปร. จำนวน ๑๒๐ นาย

ประโยชนที่ได้รับ
บุคลากร รพ.รร.จปร. มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง มีพฤติกรรมสุขภาพที่ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน

ผลที่คาดว่าจะได้รับ
๑. ปลูกฝังเจตคติกำลังพล รพ.รร.จปร. และผู้เข้าร่วมโครงการ ฯ ให้สามารถลดความอ้วนได้
๒. ผู้ร่วมโครงการ ฯ เกิดความตระหนักและช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน
๓. ผู้ร่วมโครงการ ฯ มีความรู้ความเข้าใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการลดความอ้วน
๔. ปลูกฝังความสามัคคีในหมู่คณะในกลุ่มบุคลากร รพ.รร.จปร.

การประเมินผล
๑. บุคลากร รพ.รร.จปร. ให้ความร่วมมือในการเข้าร่วมโครงการฯ ร้อยละ ๑๐๐
๒. มีผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น